บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

จิตเป็นนามธรรมไม่ได้

ในบทความก่อนหน้านี้ ผมได้กล่าวไปแล้วว่า งานเขียนทางวิชาการของพุทธวิชาการ/นักปริยัติเกือบจะทั้งหมดร้อยละร้อยเลยก็ว่าได้ เห็นผิดเพี้ยนไปจากศาสนาพุทธว่า "จิตเป็นนามธรรม"

ความเห็นที่ผิดเพี้ยนของพุทธวิชาการดังกล่าว  เป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอน

ผมอธิบายถึงการทำให้จิตเป็นนามธรรมของพุทธวิชาการไปแล้วคือ
1) แปลงศัพท์ให้ผิดเพี้ยน
2) ให้ความหมายที่แปลกปลอม

หลังจากนั้น ผมจึงนำหลักฐานมายืนยันว่า 3) จิตไม่เป็นนามธรรมหลักฐานจากพระไตรปิฎก

หลักฐานชิ้นต่อไปของผมก็คือ 4) จิตเป็นนามธรรมไม่ได้หลักฐานจากภาษาศาสตร์

ในทางภาษาศาสตร์นั้น ตำแหน่งกับหน้าที่ของคำมีความผูกพันตามกฎของไวยากรณ์หรือหลักภาษาของภาษานั้นๆ

พูดให้เข้าใจง่ายๆ อีกนิดหนึ่งก็คือ ตำแหน่งในประโยคอยู่ที่ใดจะบอกหน้าที่ของคำ หน้าที่ของคำจะเป็นตัวบ่งบอกว่า ความหมายของคำๆ นั้น ควรมีความหมายว่าอย่างไร

อาจารย์ผมที่ธรรมศาสตร์ จะเน้นเสมอว่า “เมื่อมีตำแหน่ง ก็ต้องมีหน้าที่” เน้นมากขนาดไหนก็คิดเอาเอง เพราะ ผมยังจำใส่สมองมาถึงปัจจุบันนี้

คำแต่ละคำ ถ้ายังไม่ประกอบเข้าเป็นประโยค เราจะไม่รู้ว่า คำนั้นหมายความว่าอย่างไร 

ยกตัวอย่างเช่น  คำว่า "ขัน"  ถ้าอยู่โดดๆ  เราจะบอกไม่ได้เลยว่า หมายความว่าอย่างไร เพราะ คำๆ หนึ่งมีหลายความหมาย

ตำแหน่งของคำนาม ตำแหน่งของคำกริยา ตำแหน่งของคำคุณศัพท์ (Adjective) จะมีตำแหน่งที่แน่นอน คำคุณศัพท์จะไม่สามารถไปอยู่ในตำแหน่งของคำนามได้

ถ้าต้องการสื่อสารถึงความหมายของคำคุณศัพท์ ก็จะต้องแปลงคำคุณศัพท์นั้นให้เป็นคำนามเสียก่อน ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Abstract Nouns

ยกตัวอย่างเช่น
This man is good.  ผู้ชายคนนี้เป็นคนดี
This flower is beautiful. ดอกไม้นี้งาม[1]

ประโยคตัวอย่าง 2 ประโยคข้างต้นนั้น  ผู้สื่อสารต้องการกล่าวถึงประธานเป็นหลัก คือ ต้องการกล่าวถึง ผู้ชาย กับ ดอกไม้ 

โดยกล่าวว่า ผู้ชายเป็นคนดี  ส่วนดอกไม้ก็มีความงาม  คำว่า "ดี/good”, กับคำว่า "งาม/beautifulนั้น เป็น คำคุณศัพท์/adjective

ทีนี้สมมุติว่า ผู้สื่อสารต้องการที่จะกล่าวถึง "ตัวความดี" หรือ "ตัวความงาม"  ซึ่งจะต้องนำเอาคำว่า "ดี" และ "งาม" มาเป็นประธานของประโยค

ในทางไวยากรณ์หรือหลักของภาษา จะนำคำว่า ดีหรือ งามมาเป็นประธานของประโยคโดยตรงเลยไม่ได้  จะต้องแปลงคำคุณศัพท์ให้เป็นคำนามเสียก่อน

ถ้าเป็นภาษาไทยก็จะเติมคำว่า ความหรือ การเข้าไปข้างหน้าคำเหล่านั้น เช่น ดี เป็น ความดี งาม เป็นความงาม เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น
ความดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ
ความงามเป็นสิ่งที่ผู้หญิงต้องการ

ประโยคตัวอย่าง 2 ประโยคข้างต้นนั้น จะเห็นว่า ผู้สื่อสารต้องกล่าวถึง ความดี กับ ความงาม เป็นหลัก

จึงได้แปลงคำคุณศัพท์ให้เป็นคำนามและนำไปเป็นประธานของประโยค

จากตัวอย่างข้างต้น เมื่อมีการนำคำว่า นามไปผสมกับกับคำว่า ธรรมเป็น นามธรรมโดยเจตนาของพุทธวิชาการ 

จึงทำให้ผู้ที่ไม่สันทัดในความละเอียดอ่อนของภาษา หลงเชื่อโดยเข้าใจผิดไปว่า นาม หรือ ใจ/จิต/วิญญาณ มีลักษณะเช่นเดียวกับ Abstract Nouns ในภาษา

จึงมีการบรรยายสภาพของ ใจ/จิต/วิญญาณ ให้เป็นสภาวะเดียวกันกับ Abstract Nouns ที่เกิดจากคำคุณศัพท์

การกระทำเช่นนั้น เป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะ

นามธรรมเป็นมโนทัศน์ที่อยู่ในภาษา  สิ่งที่เป็นธรรมชาติจะเป็นนามธรรมไม่ได้

การที่จะอภิปรายให้เห็นว่า ใจ/จิต/วิญญาณ เป็นนามธรรมไม่ได้ เพราะ ใจ/จิต/วิญญาณเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการสอนเรื่องรูปทรงในวิชาคณิตศาสตร์เสียก่อน แล้วจึงกลับมาอธิบายว่า ใจ/จิต/วิญญาณ ไม่เป็นนามธรรมอย่างไร ดังนี้

ในทางธรรมชาติ วัตถุทุกชนิดล้วนแต่มี  3  มิติทั้งสิ้น[2]  ยกตัวอย่างเช่น โต๊ะ ลูกฟุตบอล เป็นต้น แต่ในการเรียนคณิตศาสตร์ที่เกี่ยวกับรูปทรงต่างๆ นั้น จะสื่อสารกันผ่านหนังสือเรียน หรือกระดานดำ หรือจอคอมพิวเตอร์ซึ่งมีระนาบเป็น  2  มิติ

ดังนั้น  ในการสอนเรื่องรูปทรงจึงจะสอนได้แต่เพียงรูปวงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ฯลฯ ซึ่งเป็น  2  มิติทั้งสิ้น 

เมื่อต้องการที่จะเสนอสิ่งที่เป็นรูปทรง  3  มิติ ก็จะมีการทำเส้น แสง หรือเงาให้ดูว่าวัตถุเหล่านั้นเป็นของ  3  มิติ โดยใช้วิธีการหลอกสายตาของมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว รูปทรงเหล่านั้นยังเป็น  2  มิติเช่นเดิม

ในกรณีที่ผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งที่เป็น  3  มิติ มีหนทางเดียวเท่านั้นคือ ต้องให้ผู้เรียนเห็นสิ่งเหล่านั้นด้วยตาของผู้เรียนเอง

โดยอาจจะนำวัตถุเหล่านั้นมาให้ดูในห้อง ถ้าสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนศึกษามีขนาดไม่ใหญ่นัก  แต่ถ้าสิ่งนั้นมีขนาดใหญ่มาก ก็ต้องพาผู้เรียนไปศึกษาถึงสถานที่จริง

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า ในการสื่อสารของมนุษย์นั้น มีข้อจำกัดมากมาย ผู้สื่อสารจะนำของจริงมาให้ผู้รับสารได้ในจำนวนที่จำกัด โดยส่วนใหญ่แล้ว มนุษย์รับรู้จากภาพตัวแทน (Representative) ทั้งนั้น

ในทางภาษาก็เช่นเดียวกัน เมื่อต้องการสื่อสารถึงสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความดี ความงาม เป็นต้น มนุษย์ก็ต้องตั้งศัพท์ขึ้นมาเป็นตัวแทนสิ่งที่เป็นนามธรรมเหล่านั้น

แต่ ความหมายของคำศัพท์เหล่านั้น จะต้องใช้อยู่ในขอบเขตของภาษา จะนำคุณสมบัติเหล่านั้นไปใช้กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติไม่ได้

ในกรณีของ ใจ/จิต/วิญญาณ นั้น ได้มีการจัดประเภทให้อยู่กับรูปหรือร่างกาย คือ เป็นขันธ์ด้วยกัน

ในอนัตตลักขณสูตรได้กล่าวไว้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็น อนิจจัง/ทุกขัง/อนัตตา มีสภาวะเกิดดับๆ อยู่ตลอดเวลา

นอกจากนั้นแล้ว มีพุทธพจน์จำนวนมากที่กล่าวว่า นามรูปเกิดดับซึ่งก็หมายถึงว่า การเกิดดับเกิดขึ้นทั้งร่างกายและใจ/จิต/วิญญาณ

สภาวะการเกิดดับได้ของใจ/จิต/วิญญาณเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า ใจ/จิต/วิญญาณไม่ได้เป็นนามธรรม เพราะ สิ่งที่เป็นนามธรรมจะมีสภาวะเกิดดับเช่นนี้ไม่ได้

ขอกลับมาที่ความหมายของคำว่า ความดีและความงาม

ความหมายของความดีและความงามนั้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงไป อาจจะกล่าวได้ว่า ความหมายของความดีและความงามนั้นคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง

สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเลื่อนไหลก็คือ ระดับของความดีและความงามที่ได้รับการตัดสินจากมนุษย์  เช่น กรรมการในเวทีการประกวดนางสาวไทย บางคนอาจจะเห็นว่า นางสาวไทยของปีนี้ สวยหรืองามกว่านางสาวไทยของปีที่แล้ว เป็นต้น

แต่ความหมายของคำว่า ความงามก็ไม่ได้เปลี่ยนไปตามความงามของนางสาวไทย เป็นต้น

สรุป

นาม-ใจ/จิต/วิญญาณ มีลักษณะเป็นวัตถุเช่นเดียวกับ รูป-กาย คือ เป็นองค์ประกอบของขันธ์ 5 ด้วยกัน มีลักษณะร่วมกันคือ เกิดขึ้น ดับไป อยู่ตลอดเวลา

การเกิดขึ้นดับไปนั้น แสดงให้เห็นว่า ใจ/จิต/วิญญาณ เป็นวัตถุเช่นเดียวกับร่างกาย แตกต่างกันในเรื่องของความหยาบละเอียด

ร่างกายมีความหยาบมากจึงสามารถสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ส่วน ใจ/จิต/วิญญาณ เป็นสิ่งที่ละเอียดมาก จะสัมผัสได้จากตาของกายภายในเท่านั้น

นาม-ใจ/จิต/วิญญาณ จะมีความหมายในลักษณะเดียวกับ นามธรรม/Abstract noun ไม่ได้ 

เนื่องจากนามธรรมเป็นมโนทัศน์ที่อยู่ในภาษา จึงต้องใช้อยู่ในขอบเขตของภาษาเท่านั้น คือ ใช้เมื่อต้องการสื่อสารความหมายของ Abstract noun ไม่ควรนำมโนทัศน์ของภาษามาใช้กับสิ่งที่เป็นธรรมชาติ

การตีความว่า นาม-ใจ/จิต/วิญญาณเป็นนามธรรมของพุทธวิชาการ  เกิดจากพุทธวิชาการเชื่อวิทยาศาสตร์เก่ามากกว่าพระไตรปิฎก จึงเป็นการตีความให้สอดคล้องกับความคิดความเชื่อของตนเอง 

พุทธศาสนิกชนอื่นๆ หลงเชื่อตามไป เพราะ เชื่อถือตัวพุทธวิชาการ และไม่มีความรู้ในทางภาษาศาสตร์เพียงพอ ที่จะวิเคราะห์ความผิดพลาดของพุทธวิชาการเหล่านั้นได้

เชิงอรรถ
[1] ภาษาบาลีกับภาษาอังกฤษเป็นภาษาในตระกูลเดียวกัน คือ ตระกูลอินโดยูโรเปี้ยน และมีการใช้โครงสร้างประโยคแบบดังกล่าวมาก 

ส่วนภาษาไทยเป็นภาษามีการใช้โครงสร้างประโยคแบบนี้ไม่มากนัก จึงขอยกตัวอย่างเป็นภาษาอังกฤษประกอบ

[2] เมื่อพิจารณาด้วยหลักการของฟิสิกส์ใหม่ เช่น ทฤษฎีสัมพัทธภาพ เป็นต้น วัตถุจะมีตั้งแต่ 4 มิติขึ้นไป ในกรณีของทฤษฎีทฤษฎีสัมพัทธภาพ วัตถุมี 4 มิติโดยเพิ่มมิติเวลาอีก 1 มิติ


ส่วนทฤษฎีอื่นๆ เช่น ทฤษฏีสตริง (String theory) วัตถุอาจจะมีถึง 11 มิติก็ได้ มิติแต่ตั้งลำดับที่ 4 ขึ้นไป ไม่สามารถสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า



1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ16 มีนาคม 2557 เวลา 16:26

    จิตไม่เป็นนามธรรม ถ้าสมาธิถึงจะเห็นรูปร่างของจิตเลย

    ตอบลบ