บริจาค

เห็นว่า..บล็อกนี้ดี มีประโยชน์... โปรดสนับสนุนผู้ทำบล็อกได้ที่ พร้อมเพย์ 083-4616989
หรือบัญชี 002-1-70462-8 กสิกรไทย สาขาบางลำภู

แปลงศัพท์ให้ผิดเพี้ยน


กระบวนการทำให้ “จิตเป็นนามธรรม” ของพุทธวิชาการ/นักปริยัตินั้น มีความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนหลากหลายวิธีการ 

ประการแรกที่จะชี้ให้เห็นในบทความนี้ก็คือ แปลงศัพท์ให้มีความหมายที่ผิดเพี้ยนไปเป็นประการแรก 

การแปลงศัพท์ให้มีความหมายที่ผิดเพี้ยนไปนั้น ได้ผลมาก เพราะ คนจะมีความสงสัยน้อยมาก หรือไม่สงสัยเลย 

นี่เป็น “อำนาจ” อย่างหนึ่งในทางวิชาการ  และสามารถทำลายศาสนาพุทธได้อย่างถึงรากถึงโคน ในคราบของนักวิชาการ

คำว่า "จิต" นั้น  ถ้าจะเขียนกันให้เข้าใจ ไม่เกิดความกำกวม  ควรใช้คำว่า ใจ/จิต/วิญญาณ เพราะ จะครอบคลุมความหมายที่ต้องการจะสื่อได้ดี   และผมเองก็ชอบใช้คำนี้

การเลือกใช้คำของผมนั้น มีหลักฐานที่มาจากพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๖  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๘ สังยุตตนิกาย นิทานวรรค  

มหาวรรคที่ ๗ ๑. อัสสุตวตาสูตรที่ ๑

[๒๓๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้มิได้สดับ จะพึงเข้าไปยึดถือเอาร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูต ๔ นี้ โดยความเป็นตน ยังชอบกว่า

แต่จะเข้าไปยึดถือเอาจิตโดยความเป็นตนหาชอบไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

เพราะร่างกายอันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ เมื่อดำรงอยู่ ปีหนึ่งบ้าง สองปีบ้าง สามปีบ้าง สี่ปีบ้าง ห้าปีบ้าง สิบปีบ้าง ยี่สิบปีบ้าง สามสิบปีบ้าง สี่สิบปีบ้าง ห้าสิบปีบ้าง ร้อยปีบ้าง ยิ่งกว่าร้อยปีบ้าง ย่อมปรากฏ

แต่ว่าตถาคตเรียกร่างกาย อันเป็นที่ประชุมแห่งมหาภูตทั้ง ๔ นี้ว่า จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง จิตเป็นต้นนั้น ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงหนึ่งดับไป ในกลางคืนและกลางวัน ฯ

จะเห็นได้ว่า ในพระไตรปิฎกก็ยืนยันว่า ใจ/จิต/วิญญาณนั้น มีลักษณะเป็นดวง เกิดขึ้นที่ละดวง และก็ดับไปทีละดวง 

อย่าไปคิดว่าเหมือนกับผีกระสือ  ไม่ใช่อย่างนั้น

การที่มีศัพท์ว่า “จิตบ้าง มโนบ้าง วิญญาณบ้าง” ก็แสดงให้เห็นว่า จิตบ้าง มโน/ใจบ้าง และวิญญาณบ้างนั้น คือ สิ่งเดียวกัน

แต่เรียกให้แตกต่างกันไปตามความแตกต่างของหน้าที่ในขณะที่กล่าวถึง

กายกับใจ/จิต/วิญญาณนั้น  ในพระไตรปิฎกมีศัพท์ใช้เพียง รูปกับ นาม เท่านั้น  ในพระไตรปิฎกไม่มีคำว่า รูปธรรมกับ นามธรรม

รูปก็คือ ร่างกาย  ส่วนนามก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ  ถ้าเป็นคำอธิบายของผม  นามก็คือ เวทนา สัญญา สังขาร และ ใจ/จิต/วิญญาณ

ตรงนี้ขออธิบายแทรกเรื่องขันธ์ 5 เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ ขึ้นนิดหนึ่ง

ตำราทางพุทธจำนวนมาก มักจะกล่าวว่า ขันธ์ 5 ประกอบด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ รวมกันก็เป็นรูปกับนาม

แต่มักจะไม่อธิบายว่า ของตั้ง 5 อย่าง ลดไปเหลือ 2 อย่างได้อย่างไร

อันที่จริงแล้ว มนุษย์ทุกผู้ทุกคนประกอบด้วยกายกับใจเพียง 2 ส่วนเท่านั้น ทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวนี้ เป็นวัตถุด้วยกัน แตกต่างกันที่รูปเป็นวัตถุที่หยาบมาก  ส่วนใจเป็นวัตถุที่ละเอียดมากเท่านั้น

สำหรับส่วนที่เพิ่มมาคือ เวทนา สัญญา สังขาร นั้น เป็นอาการของใจ หรือเป็นการทำงานของใจ ไม่ได้หมายความว่า มีส่วนที่เป็นวัตถุเพิ่มเข้ามาอีก 3 อย่าง

ผมเสนอไปแล้วว่า ในพระไตรปิฎกมีศัพท์เพียงแค่ รูปกับ นามเท่านั้น  ไม่มี รูปธรรมกับ นามธรรม”  แม้แต่แห่งเดียว  หลักฐานของผมก็คือ ปฏิจจสมุปบาท ดังนี้

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย  สังขารจึงมี

เพราะสังขารเป็นปัจจัย  วิญญาณจึงมี

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย  นามรูป จึงมี

เพราะ นามรูป เป็นปัจจัย  สฬายตนะจึงมี

เพราะสฬายตนะเป็น ปัจจัย  ผัสสะจึงมี

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย  เวทนาจึงมี

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย  ตัณหาจึงมี

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย  อุปาทานจึงมี

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย  ภว (ภพ) จึงมี

เพราะภวเป็นปัจจัย  ชาติจึงมี (ความเกิด)

เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) จึงมี

จากปฏิจจสมุปบาทที่ยกมาข้างต้น  เห็นได้ชัดๆ ว่า มีแต่เพียงคำว่า รูปนาม ในข้อความที่ว่า เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมีและ เพราะนามรูปเป็นปัจจัย  สฬายตนะจึงมีเท่านั้น

จะเห็นว่า การที่จะทำให้เนื้อหาของศาสนาพุทธเข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์เก่าแบบกลไก/แยกส่วน/ลดทอน 

พุทธวิชาการก็ต้องดัดแปลงศัพท์เสียก่อนเป็นอันดับแรก คือ นำคำว่า ธรรมเข้าไปผสมกับ "รูป" กับ "นาม" กลายคำใหม่ 2 คำ คือ รูปธรรมกับ นามธรรม

และคำผสมที่เกิดขึ้นมาใหม่ได้รับความนิยมมากกว่า คำที่เป็นต้นเค้าเสียอีก




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น